วันอังคารที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

การเริ่มต้นทำโครงการอนุรักษ์การได้ยินอย่างมีประสิทธิภาพ






จากประสบการณ์ของผม สมัยที่เคยทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญ และที่ปรึกษาด้านอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยในการทำงาน (PPE) ที่ บ. 3M ประเทศไทย จำกัด


ผมได้มีโอกาสเดินทางไปอบรม และให้คำปรึกษากับบริษัทต่างๆทั่วประเทศ เกี่ยวกับเทคนิค 4 ขั้นตอนในการป้องกันอันตรายจากเสียงดัง (4 STEPS Hearing Protection Training) 

โดยเน้นหนัก ไปในเรื่องของการสร้างจิตสำนึกความปลอดภัย และความตระหนักให้กับพนักงาน หัวหน้างาน และผู้บริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการกระตุ้นให้พนักงาน หรือกลุ่มเสี่ยงสวมใส่ และเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากเสียงดัง 

ในปี 2006 ผมโชคดีมาก ที่ได้มีโอกาสไปศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติมที่บริษัท 3M ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้รับการศึกษา และถ่ายทอดโดยตรงจากผู้เชี่ยวชาญที่นั่น และโชคดีมากกว่าไปนั้นคือ 

ในปี 2009 ผมได้มีโอกาสไปศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องนี้ ที่ประเทศสวีเดน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดเกี่ยวกับการป้องกันอันตรายจากเสียงดัง คนที่นี่บอกได้เลยครับว่า เก่งสุดๆ และนิสัยดีมาก ผมได้เพื่อนดีๆจากที่นั่นมาหลายคน 





คนสวีเดนเก่งมาก เทคโนโลยีที่นี่ไม่น้อยหน้าไปกว่าอเมริกาเลย และผมได้มีโอกาสเรียนเกี่ยวกับเรื่องโครงการอนุรักษ์การได้ยิน(Hearing Conservation Program) จากผู้เชี่ยวชาญที่นั่นด้วย ผมเป็นคนที่โชคดีสุดๆ และปัจจุบันผมได้เขียนหลักสูตรขึ้นมาเอง โดยปรับให้เหมาะกับพฤติกรรมการเรียนของผู้เรียนในประเทศไทย

ว่าไปแล้วหลายๆที่ ที่เข้าข่ายที่จำเป็นต้องจัดทำโครงการอนุรักษ์การได้ยิน น่าจะพอรู้ดีว่า ทำไมบริษัทของเรา จึงจำเป็นต้องทำ ที่จำเป็นต้องทำเพราะค่า TWA (Time-Weight Aaverage) ของพนักงานในการสัมผัสเสียงดัง มีค่าเฉลี่ยมากกว่า หรือเท่ากับ 85 เดซิเบลเอ นั่นเอง

ในยุโรปถือว่า เสียงที่ 85 เดซิเบลเอ จัดว่าเป็นเสียงที่อันตรายแล้ว ถ้าสัมผัสอย่างต่อเนื่อง จะมีโอกาสสูญเสียสมรรถภาพในการได้ยินได้แน่นอน



ดังนั้น ถ้าจะทำจริงๆ ต้องระลึกไว้เสมอว่า จะต้องทำการควบคุมเสียงดังที่พนักงานสัมผัสไม่ให้เกิน 85 เดซิเบลเอ ถึงแม้กฎหมายจะพูดเสมอว่าทำงาน 8 ชม. เสียงที่สัมผัสเฉลี่ยห้ามเกิน 90 เดซิเบลเอ ก็ตาม อย่าไปบ้าจี้ตามนั้นนะครับ มันอันตรายมาก ถ้าเกิน 85 เดซิเบลเอ ไปแล้ว

จากประสบการณ์ของผม ส่วนใหญ่แล้วบริษัทก็จะชอบส่ง "กลุ่มเสี่ยง" มานั่งฟัง ทำตามกฎหมายเป๊ะ แต่มักลืม"กลุ่มสั่ง" ไม่ค่อยจะส่งมานั่งเรียนกันเลย หลายคนอาจจะสงสัยว่า ใครคือ "กลุ่มสั่ง"...?



Source : www.earplugstore.com

กลุ่มสั่ง คือ ระดับผู้จัดการ หัวหน้างาน ที่เป็นหัวหน้าของพวกกลุ่มเสี่ยง ถ้าจะเอาแต่ให้สอน ให้อบรมเฉพาะกลุ่มเสี่ยงตามกฎหมาย แต่กลุ่มสั่งไม่รับรู้อะไรเลย ผมบอกได้เลยครับว่า โครงการนี้เละเป็นโจ๊กแน่นอน...

วิธีเริ่มต้นที่ดีที่สุด คือ นำกลุ่มสั่งเข้ามาเรียนด้วย เพื่อให้พวกเขาได้รับรู้เกี่ยวกับอันตรายของเสียงดังและอันตรายจาการสูญเสียสมรรถภาพในการได้ยิน พอเขารับรู้แล้ว ตระหนักแล้ว โครงการนี้จะไปได้จริงๆครับ น่าจะดีกว่าการให้พนักงานกลุ่มเสี่ยงดูแลตัวเอง สักพักก็เบื่อ เพราะไม่มีคนคอยสนับสนุน หรือ ส่งเสริม

ถ้าเขารู้ เขาจะเข้าใจ ถ้าเขาเข้าใจ เขาจะรู้ว่ามันสำคัญ พอเขารู้ว่ามันสำคัญ เขาจะลงมือทำ และช่วยให้โครงการอนุรักษ์การได้ยินนี้ประสบความสำเร็จครับ...

เริ่มต้นที่ "กลุ่มสั่ง" ก่อนครับ แล้วค่อยไปลุยกับ"กลุ่มเสี่ยง"


===============================================

เพิ่มเติม...บทความเกี่ยวกับเสียงดังที่ผมเขียนไว้...


ติดตามข่าวสารต่างๆได้ที่เพจ

ปราโมทย์ โอภาสมงคลชัย
www.pramoteo.com